Sansai Discovery

อินทร์แก้ว จันทรัตน์ ด้านหัตถกรรมปั้นหล่อพระ

ผลงาน

ปั้นพระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น พระพุทธรูปทรงเครื่อง พระพุทธรูปปางสมาธิ พระพุทธรูปศิลปะหลวงพระบางล้านช้าง รูปเหมือน ปั้นสัตว์ต่างๆ เช่น ปั้นสิงห์ พญานาค สัตว์ป่าหิมพานต์ และมีความสามารถปั้นขึ้นรูปหุ่นดิน หุ้มขี้ผึ้ง หล่อโลหะ ขัดตกแต่ง ลงสนิม เคยปั้นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่ถึงขนาดหน้าตัก 100 นิ้ว

วัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ปั้นหุ่นพระ

  1. ดินเหนียวสำเร็จรูป
  2. แกลบขาว
  3. เหล็กเส้น 5-6 หุน
  4. ขี้ผึ้งแดง
  5. เหล็กขูดขนาดต่างๆ
หุ่นแกนดิน

ขั้นตอนการปั้นขึ้นรูปหุ่นดิน บุขี้ผึ้ง

  1. ปั้นแกนดิน นำดินเหนียวสำเร็จรูปผสมแกลบขาวให้เข้ากัน เริ่มปั้นฐานหุ่นและใส่เหล็กเส้น ขนาด 5-6 หุน ทิ้งไว้ให้แห้ง จากนั้นเริ่มปั้นต่อขึ้นรูปส่วนลำตัวพร้อมกับตกแต่งทิ้งไว้ให้แห้ง ปั้นต่อส่วนเศียรแขนพร้อมกับตกแต่งทิ้งไว้ให้แห้ง
  2. เมื่อได้หุนแกนดินแล้วการหุ้มขี้ผึ้งหรือบุขี้ผึ้ง จะนำเอาขี้ผึ้งสีแดงมาต้มในหม้อ แล้วนำมากรองเอาเศษตะกอนออก ต้มน้ำให้อุ่นถึงค่อนข้างร้อน เทลงในภาชนะรางน้ำนำขี้ผึ้งที่กรองเสร็จแล้วเทลงไปในรางน้ำให้ขี้ผึ้งมีความหนาประมาณ 5 มิลลิเมตร แช่ให้แข็งตัวนำมาตัดออกเป็น 8 ส่วน แล้วยกออกมาให้เสด็จน้ำ เมื่อได้ขี้ผึ้งแผ่นแล้วนำมาประกอบเข้ากับแกนหุ่นดิน โดยการนำเอาขี้ผึ้งมาตากแดด เพื่อให้ขี้ผึ้งอ่อนตัวลง จากนั้นนำขี้ผึ้งที่อ่อนตัวหุ้มเข้ากับแกนหุ่นให้ทั่วทั้งองค์พระพุทธรูป แล้วขูดแต่งให้เรียบร้อยด้วยมีดปลายแหลม ตกแต่งรายละเอียดโดยการเกลาให้เรียบร้อย การตกแต่งเศียรและผิวองค์พระจะต้องเป็นช่างที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์สูง ถือเป็นขั้นตอนที่ยาก เป็นงานที่ต้องใช้ความประณีต ส่วน โมลี เม็ดพระศก พระกรรณ พระกร พระบาท ผ้าจีวร ฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ช่างจะนำมาติดและตกแต่งหลังจากหุ้มขี้ผึ้งองค์พระเสร็จ
  3. การพอกดิน จะใช้ดินนวล เป็นดินละเอียดสำเร็จนำมาผสมกับน้ำมูลวัวนวดจนเหนียว นำไปทาหุ่นพระพุทธรูปที่หุ้มขี้ผึ้งบางๆ จำนวน 4 ครั้ง แต่ละครั้งจะต้องรอให้ดินที่ทำหุ่นพระพุทธรูปแห้งสนิทเสียก่อน ถึงจะพอกรอบต่อไปได้ นำดินเหนียวผสมกับแกลบดำให้เข้ากันจนเหนียว นำไปพอกหุ่นพระพุทธรูปหนาประมาณ 1 นิ้ว พร้อมทั้งนำตะปูมาตอกให้ทั่วแกนหุ่นทิ้งไว้ให้แห้ง นำน้ำมูลวัวผสมแกลบดำทาให้ทั่วหุ่นพระพุทธรูปและเอาดินเหนียวผสมแกลบดำเข้าไปพอกหุ่นพระพุทธรูปทันที เพื่อให้ยึดแน่นเกาะติดกับหุ่นพระพุทธรูปรอจนแห้ง จากนั้นทำการติดฉนวน ฉนวน คือ ทางเดินของทอง (ทองแล่น) ฉนวนทำมาจากชัน (ขี้ย้า) เป็นก้อน นำมาต้มให้เหลวตักใส่น้ำเย็นพอเริ่มแข็งตัวนามากลึงให้เป็นแท่งทรงกระบอกยาวให้มีขนาดใหญ่ กลาง เล็ก แล้วนำมาติดให้ทั่วหุ่นพระพุทธรูป ด้านหลังจะให้สายฉนวนขนาดใหญ่ให้เป็นแกนกลางสำหรับทางไหลของโลหะที่หลอมละลายเชื่อมไปยังส่วนต่างๆ ในลักษณะเหมือนก้างปลา นำปูนพลาสเตอร์ผสมทรายละเอียดให้มีความเหนียวพอประมาณ แล้วนำมาพอกให้ทั่วหุ่นพระพุทธรูปหนา 1 นิ้ว
  4. การยึดหุ่นพระพุทธรูปนำเหล็กเส้นขนาด 3 หุน นำมาตัดให้มีความสูงเท่ากับหุ่นพระพุทธรูป นำมารัดลวดเข้ากับหุ่นให้เป็นตาราง โดยมีระยะห่างประมาณ 3 x 3 นิ้ว ทั่วทั้งหุ่นพระ การพอกหุ่น นำปูนพลาสเตอร์ ทรายละเอียดผสมน้ำคนให้เข้ากันพอเหนียวนามาพอกหุ่นพระพุทธรูปให้มีความหนาเท่ากับเหล็กที่หุ้มโดยไม่ให้เห็นเหล็กที่หุ้มหุ่นทิ้งไว้ให้แห้งสนิท
  5. การขึ้นโทน โดยการก่ออิฐทาฐานสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กลับหุ่นองค์พระพุทธรูปเอาฐานพระขึ้นข้างบน เพื่อทาปากจอกไว้สาหรับให้ขี้ผึ้งไหลออก และเป็นทางไหลของโลหะ ก่ออิฐตั้งโทนรอบๆ ฐาน ใช้อิฐบล๊อคก่อขึ้นไปให้มีความสูงเท่ากับองค์พระ นำปูนพลาสเตอร์ ทรายละเอียดผสมน้ำคนให้เข้ากันจนเหนียว ฉาบให้ทั่วอิฐบล๊อกที่ก่อไว้ ฐานด้านร่างทำเป็นช่องไว้สาหรับใส่ฟื้น ด้านบนใช้แผ่นเหล็กปิดให้เต็ม สาเหตุที่ก่ออิฐบล๊อคก็เพื่อเวลาสุมไฟสำรอกขี้ผึ้งออกและเผาหุ่นพระให้สุก อิฐบล๊อคที่ก่อรอบหุ่นจะช่วยรักษาเปลวไฟและความร้อยที่อยู่ข้างในให้มีความสม่ำเสมอ ขั้นตอนนี้จะใช้พื้นเผา 3 วัน 2 คืน โดยใช้ไฟปานกลาง จนกว่าขี้ผึ้งจะไหลออกมาจนหมด จากนั้นจึงใช้ไฟแรง โดยใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว(น้ำมันขี้โหล้) มาจุดไฟเผาผ่านพัดลมหอยโขล่งจะทำให้ไฟที่ไหม้น้ำมันโหมแรงขึ้น เมื่อเผาหุ่นดินพระที่เอาขี้ผึ้งออกหมดแล้วและเผาต่อจนดินสุก รื้อเอาเตาเผาหุ่นพระออก จากนั้นใช้ลวดพันหุ่นพระจากด้านล่างขึ้นมาจนถึงฐานพระด้านบนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อป้องกันการแตกขณะทำการเททองหล่อพระ จากนั้นใช้ปูนพลาสเตอร์ ทรายละเอียดผสมน้ำคนให้เข้ากันจนเหนียวนำมาพอกหุ่นพระที่ใช้ลวดพันให้ทั่วอีกครั้งและใช้ปูนพลาสเตอร์ปิดตามแนวที่มีรอยแตกร้าวก่อนจะทำการเททองหล่อพระ
  6. การหลอมโลหะ ใช้เป้าหลอม วิธีการทำนั้นคือ ใช้อิฐมอญก่อขึ้นให้มีความสูง 60 เซนติเมตร กว้างประมาณ 80 เซนติเมตร เจาะรูให้มีขนาดเท่ากับปากท่อพัดลมหอยโข่งกับสายน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว(น้ำมันขี้โหล้) ใช้ปูนพลาสเตอร์ ทรายละเอียด ผสมน้ำคนให้เข้ากันจนเหนียวแล้วพอกให้ทั่วอย่าให้มีรูหรือรอยรั่วโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้อุณภูมิความร้อนในเตาไม่สม่ำเสมอ โลหะจะหลอมละลายได้ไม่ดี รอจนเตาแห้งสนิท จากนั้นต่อสายจากถังน้ำมัน 200 ลิตร เข้าเตาหลอมผ่านพัดลมหอยโข่ง นำเป้าหลอมเข้าไปวางไว้ในเตาหลอมใส่โลหะต่างๆ ประกอบด้วย ทองคำ เงิน ทองแดง ดีบุกขาว ดีบุกดำ จุดไฟโดยใช้ไฟแรงความร้อนสูง และนำฝาครอบเป้าหลอมมาปิด ระยะเวลาที่ใช้ในการหลอมละลายโลหะ 5-6 ชั่วโมง
  7. การเททองหล่อพระ เมื่อหลอมโลหะเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว จึงเททองลงไปในปากจอกด้านหน้าหุ่นพระก่อน จากนั้นจะเททองลงไปในปากจอกด้านหลังสลับกันไปไม่ให้ขาดจนเต็มหุ่นทิ้งไว้ให้แข็งตัวประมาณ 2 วัน ถึงจะถอดพิมพ์ออกได้
  8. การถอดพิมพ์และการขัดผิวองค์พระพุทธรูป ทำการตอกเอาปูนพลาสเตอร์ ตะแคงเหล็กออกทีละชั้นและกระทุ้งดินข้างในองค์พระพุทธรูปออก ตัดตะปู ตัดชนวนก้างปลา อุดรอยรั่วของทองสัมฤทธิ์ โดยการเชื่อมตามรอยรั่วให้เรียบร้อย ใช้ตะไบไฟฟ้าขัดแต่งองค์พระพุทธรูปให้ขึ้นเงาสวยงาม

ผลงานการปั้นหุ่นดินและบุขี้ผึ้ง

การอนุรักษ์สืบสาน เผยแพร่และการถ่ายทอดองค์ความรู้

ได้มีนักศึกษาจากสถาบันในจังหวัดเชียงใหม่มาศึกษาเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ มีหน่วยงานต่างๆ ได้เชิญให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายและสาธิตการปั้นขึ้นหุ่นบุขี้ผึ้ง นอกจากนี้ยังมีผู้ที่สนใจจากต่างจังหวัดมาเรียนรู้ได้แก่อาจารย์ นักศึกษาจากจังหวัดลาปาง จังหวัดเชียงราย รวมถึงได้สร้างพระพุทธรูปถวายวัดในอำเภอสันทรายอีกหลายวัด

แหล่งที่มา : โครงการสำรวจข้อมูลปราชญ์ท้องถิ่นล้านนา โดย นายวุฒิภัทร เกตุพัฒนพล ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยแม่โจ้