BeliefsFOLKWAYS

ร่องรอยการต่อสู้กับธรรมชาติ “ความเชื่อเกี่ยวกับภัยแล้ง”

0
ภัยแล้ง เป็นภัยที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานานจนก่อให้เกิดความแห้งแล้ง 
และส่งผลกระทบต่อชุมชน ซึ่งภัยแล้งเป็นภัยสำคัญอันดับต้น ๆ ของผู้คนในอดีต เพราะว่าชาวบ้านสมัยก่อนนิยมทำเกษตรกันเป็นอาชีพหลัก ภัยแล้งมาเยือนเมื่อไหร่ความลำบากเข้ามาหาแน่นอน ข้าวก็จะไม่มีกิน 
คนสมัยก่อนจึงคิดหาวิธีการรับมือกับภัยแล้งด้วยความเชื่อต่าง ๆ

การรับมือกับภัยแล้ง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 : การวางแผนรับมือกับภัยแล้ง

เป็นการคาดการณ์ว่าแต่ละปีจะเกิดภัยแล้งมากน้อยเพียงใด ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยและฟังจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้ แต่คนสมัยก่อนเขาไม่มีสิ่งเหล่านี้และไม่นิ่งนอนใจเรื่องภัยแล้งจึงมีการสังเกตแล้วก็สอนกันมาอย่างยาวนาน  

  • วางแผนจากหนังสือปีใหม่เมือง โดยผู้คนจะทำการเก็บข้อมูลสถิติต่าง ๆ แล้วนำมาคำนวณให้เป็นรูปแบบของโหราศาสตร์จนเกิดความถี่ และพยากรณ์ออกมา ซึ่งมีการตีพิมพ์เป็นหนังสือฉบับหนึ่งเรียกว่า “หนังสือปีใหม่เมือง” โดยเนื้อหาพูดถึงหลากหลายเรื่องราว ในส่วนของการพยากรณ์ว่าแล้งมากหรือแล้งน้อยเท่าไหร่มีการนำเสนออกมาในรูปแบบของการให้น้ำพญานาค ซึ่งมีการเขียนออกมาว่าปีนี้พญานาคให้น้ำกี่ตัว ความแปลกอยู่ตรงที่เมื่อไหร่ที่มีพญานาคให้น้ำเป็นจำนวนมากและให้น้ำหลายตัว แปลว่าปีนั้นฝนจะไม่ตก น้ำแล้ง แต่ถ้าพญานาคให้น้ำน้อย แปลว่าฝนจะตกหนัก รวมถึงมีการพยากรณ์ว่าฝนจะตกกี่ห่าและบริเวณไหนบ้าง เช่น ฝนจะตก 100 ห่า จะไปตกในป่าหิมพานต์กี่ห่า ตกในจักรวาลกี่ห่า ตกในโลกมนุษย์กี่ห่าก็จะคำนวณปริมาณออกมา เมื่อผู้คนอ่านหนังสือปีใหม่เมืองจะเห็นปริมาณน้ำว่าปีนี้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ก็จะโล่งไป ปลูกข้าวทำนากันปกติ ถ้าปีไหนฝนแล้งชาวบ้านจะเตรียมตัวล่วงหน้าในการรับมือกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น และถ้าปีไหนมีฝนตกเยอะเกินไปก็จะวางแผนไม่ปลูกข้าวบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ

ภาพโดย : เพจโอ.เค.บุ๊คสโตร์

  • สังเกตจากธรรมชาติรอบตัว
    • สังเกตได้จากความหนาว เมื่อไหร่ที่อากาศหนาวมากภัยแล้งกำลังมาเยือนและภายในปีนั้นจะเกิดความแห้งแล้งค่อนข้างหนัก
    • สังเกตจากฝักมะขาม ถ้าปีไหนฝักมะขามออกมาแล้วงอเยอะแสดงว่าปีนั้นน่าจะหนาวเป็นเวลานาน และมีโอกาสสูงที่ปีนั้นจะเกิดภัยแล้ง

ส่วนที่ 2 : การเตรียมตัวรับมือกับภัยแล้ง

คนล้านนาในสมัยก่อนส่วนใหญ่นิยมทำนา ทำการเกษตรกันซึ่งชาวบ้านจะทำไร่ทำนาช่วงเดือน 10 ของภาคเหนือหรือเดือนกรกฎาคม โดยการนับเดือนของล้านนาจะนับแบบจันทรคติ ซึ่งจันทรคติของล้านนาจะเร็วกว่าจันทรคติของภาคกลาง 2 เดือน ในช่วงเดือน 9 ของภาคเหนือก่อนทำการเกษตรต้องมีการบวงสรวง กราบไว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกอย่าง เพื่อป้องกันภัยแล้งและเพื่อให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล

  • การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ระดับจังหวัด ได้แก่ การใส่ขันดอกที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร โดยแก่นแท้ของการใส่ขันดอกเป็นการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลเสาหลักเมือง เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นดลบันดาลให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล ถ้าปีไหนไม่ได้ใส่ขันดอกชาวบ้านจะกลัวกันมาก และด้วยความบังเอิญอะไรก็ตามหลังจากทำพิธีใส่ขันดอกเสร็จฝนก็จะตกลงมาทันที นอกจากนี้ยังมีการสืบชะตาเมือง มีการฟ้อน และเลี้ยงผีปู่แสะ ย่าแสะ 
  • การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ระดับชุมชน 
    • การทำบุญเลี้ยงผี ไม่ว่าจะเป็นผีเจ้านาย ผีบ้านผีเรือน ผีเสื้อบ้านดูแลปกป้องหมู่บ้าน ผีขุนน้ำ และผีฝาย (ผีฝายจะมีการไหว้ด้วยหมูตัวใหญ่) ซึ่งจะขอให้อยู่ดีมีสุข ถ้าไม่มีการทำพิธีกรรมนี้คนจะเชื่อว่าฝนฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล ภัยแล้งมาเยือนแน่นอน รวมถึงเป็นการทำเพื่อให้เกิดความสบายใจ
    • การนำพระพุทธรูปออกมาแห่ โดยมีการนำพระพุทธรูปฝนแสนห่ามาแห่รอบเมือง

ภาพโดย : เพจไทยรัฐออนไลน์

ส่วนที่ 3 : การรับมือเมื่อทำพิธีป้องกันภัยแล้งแล้ว แต่ยังเกิดขึ้นอยู่

  • ใช้ศาสนาเป็นที่พึ่งพา
    • การนำพระพุทธรูปฝนแสนห่า ออกมาแห่อีกครั้ง
    • จัดพิธีฟังธรรม โดยมีการเทศนาเฉพาะกิจเรื่อง “พญาปลาช่อน” เป็นการกล่าวถึงอดีตของพระพุทธเจ้าที่ครั้งนึงเคยเกิดเป็นพญาปลาช่อนอยู่ในหนองน้ำ แล้วปีนั้นเกิดภัยแล้ง สัตว์ที่อาศัยอยู่ในท้องนา ในหนองน้ำต่างเดือดร้อน ล้มตายกันเป็นจำนวนมาก ปลาช่อนที่เป็นหัวหน้าจ่าฝูงจึงพูดอ้อนวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ฝนตก และฝนก็ตกลงมาจริง ๆ ทำให้สัตว์ทั้งหลายรอดตายกัน
  • จัดพิธีกรรมขึ้นมา
    • การแห่มอมหรือในปัจจุบันกลายเป็นการแห่นางแมว เป็นรูปแบบการขอฝนอย่างหนึ่งซึ่งมอมเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ เลี้ยงลูกด้วยนม มีลักษณะเป็นสัตว์ผสมที่คล้ายสิงโต เสือ แมวผสมผสานกัน (รูปของมอมมีให้เห็นตามประติมากรรมโบราณและจิตรกรรมฝาผนังของวัด) มอมเป็นพาหานะของเทพปัชชุนนเทวบุตรซึ่งเป็นเทพแห่งเมฆและฝน โดยผู้คนจะทำพิธีกรรมเมื่อเกิดภัยแล้งด้วยการนำตัวมอมแบบแกะสลักไม้มาแห่ เชื่อกันว่าเมื่อมอมโดนน้ำจะขึ้นไปฟ้องเจ้านายบนสวรรค์ ในปัจจุบันไม่มีการแห่มอมแล้ว และมีข้อสันนิษฐานของนายศรีเลา เกษตรพรหม (ทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ได้สันนิษฐานว่ามอมที่แกะสลักไม้ในช่วงหลังหายากขึ้นเพราะเกิดการสูญหายไปบ้างตามกาลเวลา ถูกไฟไห้มบ้าง เมื่อไม่มีมอมจึงนำสัตว์ที่คล้ายมอมมาแห่แทน จะไปเอาเสือสิงโตมาก็หายากไม่ต่างกัน จึงนำแมวมาแห่แทน
    • พิธีดึงหางพญานาค หรือภาษาเหนือเรียกว่า “จั๊กหางนาค” ซึ่งในปัจจุบันไม่เห็นพิธีกรรมนี้แล้ว โดยมีความเชื่อว่าปีไหนเกิดภัยแล้งชาวบ้านจะทำการขุดดินเป็นโพรงคล้ายถ้ำหรือบางคนบอกว่าคล้ายโอ่ง ปากจะแคบแต่ข้างในกว้าง ความยาวของโพรงลึกเป็นเมตร หลังจากนั้นนำต้นกกที่มีลักษณะลำต้นเป็นรูปสามเหลี่ยม ดึงใบออกจะเป็นกิ่งยาวๆ สีเขียวคล้ายหางงู นำต้นกกไปยึดติดกับพื้นดินที่ขุดไว้แล้วเอาฝาไม้ไปปิดปากหลุมนำดินไปกลบให้มิด พอมองลงไปให้ความรู้สึกคล้ายกับหางงูโผล่ขึ้นมาจากดิน และเอามือจุ่มน้ำให้เปียกนำไปดึงหางงูที่ฝังไว้ออกมา คนเฒ่าคนแก่บอกว่าเสียงมันจะดังข้ามหมู่บ้าน และดังไปถึงบนสวรรค์เหล่าเทวดาได้ยินก็จะประทานฝนลงมา

มอม (สัตว์ในป่าหิมพานต์) : ภาพโดย เพจoknation

แหล่งที่มา

ชยุตภัฎ คำมูล. (2567, มกราคม 23). ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สังกัดคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้. สัมภาษณ์

Porakamol Massamer
Intern Student form Faculty of Humanities, Chiang Mai University

    “ผีหม้อนึ่ง” ที่พึ่งทางใจของชาวล้านนา

    Previous article

     “ความเชื่อกับภัยจากลมพายุ” ต่อต้านการเกิดมหัตภัยเลวร้าย

    Next article

    You may also like

    Comments

    Comments are closed.

    More in Beliefs