FOLKWAYSRituals

การฉลุลายสวยงาม สร้างตุงล้านนา เพื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ

0

การฉลุลาย

การฉลุลาย เป็นขั้นตอนแรกในการประดิษฐ์ตุงขึ้นมา โดยการฉลุเป็นวิธีหนึ่งในการทำให้เกิดลวดลายลงบนวัสดุ  ต่าง ๆ เช่น กระดาษ ผ้า แผ่นไม้ แผ่นโลหะ โดยใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของวัสดุนั้น ๆ อย่างงานฉลุกระดาษและผ้าจะใช้สิ่วและค้อนในการตอกลงบนวัสดุให้เกิดลายสวยงาม 

ประวัติความเป็นมาของการฉลุลายไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่ามีที่มาอย่างไร เพียงแค่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก่อนมีการฉลุลายในสมัยโบราณมีการตัดลายจากกระดาษตะกั่วด้วยกรรไกรเป็นวิธีการแรก เนื่องจากไม่มีเครื่องมือที่หลากหลายเหมือนในปัจจุบัน จึงใช้กรรไกรตัดลวดลายตามจินตนาการของแต่ละคน นอกจากนี้การตัดลายด้วยกรรไกรเป็นวิธีการที่ยังคงมีการใช้งานจนถึงปัจจุบัน

ตุงล้านนา

ตุงล้านนา เป็นเครื่องใช้ที่ใช้ในการประดับตกแต่งและใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆในวัฒนธรรมล้านนา เพื่อเป็นพุทธบูชา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อสืบชะตาให้ตนเอง

ประวัติความเป็นมาของตุงล้านนา

  • ตำนานเกี่ยวกับพระเจ้าอุชุตราช ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าอุชุตราชแห่งนครโยนกนาคพันธ์ ทรงสร้างพระเจดีย์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1454 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญข้างซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) แล้วมีการนำ “ตุงไชยยาวพันวา” ไปปักไว้บนพระเจดีย์เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ผู้คนในสมัยนั้นจึงพากันเรียกว่า “พระธาตุดอยตุง” และเป็นตำนานแรกในการเชื่อว่าตุงมีการสร้างขึ้นมาเพื่อบูชาพระธาตุของชาวล้านนา
  • ตำนานเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ มีการกล่าวว่า ในอดีตกาลมีกาเผือกคู่หนึ่งทำรังอยู่บนต้นไม้และออกไข่มา 5 ฟอง ขณะที่กาเผือกออกไปหาอาหารเกิดพายุลมแรงทำให้ไข่ทั้งหมดพลัดตกจากรังไปคนละทิศละทาง เมื่อกาเผือกทั้งคู่กลับมาไม่เห็นไข่ของตนก็โศกเศร้าจนตรอมใจตายและไปเกิดบนสวรรค์ ส่วนไข่ 5 ฟองถูกไก่ เต่า พญานาค โค และคนซักผ้า นำไปเลี้ยงจนเติบโตกลายเป็นชายหนุ่ม 5 คน ต่างคนก็มีจิตใจอยากบวช จึงออกบวชจนสำเร็จได้ญาณ และมาพบกันโดยบังเอิญ ทั้ง 5 องค์มีความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ให้กำเนิด จึงสร้างตุงถวายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ โดยกะกุสันทะซึ่งไก่เป็นผู้เลี้ยงได้สร้างตุงรูปไก่ โกนาคมนะซึ่งพญานาคเป็นผู้เลี้ยงได้สร้างตุงรูปนาค กัสสปะซึ่งเต่าเป็นผู้เลี้ยงได้สร้างตุงรูปเต่า โคตรมะซึ่งโคเป็นผู้เลี้ยงได้สร้างตุงรูปวัวและอริยเมตไตรยซึ่งคนซักผ้าเป็นผู้เลี้ยงได้สร้างตุงรูปค้อนทุบผ้าซึ่งหมายถึงคนซักผ้า เมื่อสร้างตุงเสร็จแล้ว ก็ถวายเป็นพุทธบูชา แต่กุศลส่งไม่ถึงบิดามารดาผู้ให้กำเนิด กาเผือกจึงลงจากสวรรค์มาบอกกล่าวให้ทำประทีปเป็นรูปตีนกาจุดไปด้วย จึงสามารถอุทิศส่วนกุศลได้สำเร็จ
  • ตำนานเกี่ยวกับนายพรานคนหนึ่ง เล่าสืบต่อกันมาว่า มีนายพรานคนหนึ่งเข้าป่าล่าสัตว์เป็นระยะเวลานานหลายปี ได้ทำตุงไปถวายบูชาพระประธานเพียงครั้งเดียวในชีวิต นอกจากนั้นไม่เคยทำบุญกุศลใด ๆ อีกเลยเมื่อเขาเสียชีวิตลงถูกตัดสินให้ตกนรกเพราะฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่การถวายตุงครั้งนั้นช่วยดึงดวงวิญญาณของเขาให้พ้นจากนรกและนำทางไปสู่สวรรค์จึงเกิดตุงล้านนาที่มีความเชื่อว่าวิญญาณทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วสามารถเกาะชายตุงขึ้นจากนรกไปสวรรค์ได้

ความเชื่อของตุงล้านนา

  • เชื่อว่าการถวายตุงเป็นพุทธบูชาจะได้บุศกุศลยิ่งใหญ่ บันดาลให้ได้ขึ้นสวรรค์ เพราะตุงเป็นสัญลักษณ์ของปฐมเจดีย์แห่งแรกบนดินแดนล้านนา
  • เชื่อว่าวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วถ้าครั้งหนึ่งเคยถวายตุง หากต้องตกนรกตุงจะช่วยห่อหุ้มไว้ไม่ให้ทุกข์ทรมาน เมื่อพ้นวิบากกรรมแล้วจะได้เกาะชายตุงนี้ไปเกิดเป็นเทพในเทวโลก
  • เชื่อว่าการถวายตุงเพื่ออุทิศกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
  • เชื่อว่าตุงจะช่วยเสริมสร้างบุญกุศลให้แก่ตนเองในภพนี้และภพหน้า
  • เชื่อว่าการถวายตุงเพื่อสะเดาะเคราะห์ให้หลุดพ้นจากสิ่งไม่ดีที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว

ประเภทของตุงล้านนา

การแบ่งประเภทของตุงล้านนามักอ้างอิงตามพิธีกรรมที่จะใช้งานได้ 4 ประเภท ดังนี้

  • ตุงที่ใช้ในงานมงคล
    • ตุงไชย เป็นตุงที่ใช้ในงานปอยหลวง ซึ่งเป็นงานที่เฉลิมฉลองวิหาร ฉลองศาลา หรืออาคารสถานที่ภายในวัด โดยผู้ถวายจะเขียนคำอุทิศติดไว้ที่ตุง จากนั้นนำตุงไปใส่ภาชนะพร้อมข้าวตอกดอกไม้ ธูปเทียนถวายให้พระสงฆ์ที่วัด เมื่อพระสงฆ์ให้พรแล้ว จึงนำตุงไปแขวนบนค้างตุงบริเวณหน้าวัดและรอบวัตถุที่ฉลอง
    • ตุง 12 ราศี เรียกอีกชื่อว่า “ตุงตัวเปิ้ง” เป็นตุงที่ใช้เพื่อสืบชะตาปีเกิด ต่ออายุของตนเองและเพื่อให้เกิดสิริมงคลตลอดทั้งปี มักจะแขวนไว้ในห้องพระและปักที่เจดีย์ทรายในช่วงสงกรานต์
    • ตุงค่าคิง เรียกอีกชื่อว่า “ตุงเทวดา” เป็นตุงที่มีความยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของตุง โดยคำว่า “ค่า” หมายถึง เท่ากับ และคำว่า “คิง” หมายถึง ร่างกาย ซึ่งตุงชนิดนี้สร้างขึ้นมาเพื่อสะเดาะเคราะห์ สืบชะตา ปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัย เคราะห์กรรมต่าง ๆให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น
    • ตุงพระบฏ เป็นตุงขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า กรอบทั้งสี่ด้านทำด้วยไม้ช่วยขึงให้ตึง ตัวตุงทำเป็นรูปพระพุทธรูปประทับยืนบ้าง ปางลีลาบ้าง หรือปางเปิดโลกใช้ประดับไว้ด้านหลังของพระประธานในโบสถ์ รวมถึงนำไปใช้ในพิธีกรรมการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ และในปัจจุบันตุงประเภทนี้หายากแล้ว   
  • ตุงที่ใช้ในงานอวมงคล
    • ตุงแดง เป็นตุงที่มีความยาวประมาณ 4-6 ศอก กว้างประมาณครึ่งคืบ แบ่งความยาวออกเป็นสี่ท่อน ชายด้านล่างทำเป็นสามชาย ใช้ในพิธีสูตรถอนศพที่ตายผิดปกติ เช่น ตายเพราะอุบัติเหตุต่าง ๆ โดยจะปังตุงไว้บริเวณที่ตาย และก่อเจดีย์ทรายเท่ากับอายุของผู้ตาย ปักช่อน้อยบนเจดีย์ทรายให้ครบ
    • ตุงเหล็กตุงตอง เรียกอีกชื่อว่า “ตุงร้อยแปด” เป็นตุงที่ทำด้วยแผ่นสังกะสีหรือแผ่นทองเหลืองขนาดเล็ก มีคันตุงทำจากเส้นลวดหรือไม้ไผ่ ส่วนมากจะทำอย่างละ 108 อัน มัดติดเป็นพวง โดยทำฐานตั้งไว้หรือบางแห่งวางไว้บนโลงศพ
  • ตุงที่ใช้ในงานมงคลและอวมงคล
    • ตุงไส้หมู เป็นตุงที่มีรูปร่างทรงจอมแห ทำจากกระดาษสีต่าง ๆ ผูกติดกับกิ่งไม้ นิยมใช้ในเทศกาลสงกรานต์โดยนำไปปักบนกองเจดีย์ทราย
    • ตุงกระด้าง เป็นตุงที่ทำด้วยวัสดุคงรูป เช่น ไม้แกะสลัก แผ่นโลหะ ประดับตกแต่งด้วยกระจก ปูนปั้น หรือฉลุลาย โดยผู้สร้างมักเป็นผู้ที่มีฐานะดี และสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
    • ตุงสามหาง เรียกอีกอย่างว่า “ตุงรูปคน” หรือ “ตุงผีตาย” ใช้สำหรับนำหน้าศพไปยังสุสาน โดยส่วนหัวและลำตัวที่กางออกเปรียบเสมือนแขนขาคน ท่อนล่างทำเป็นสามหาง ซึ่งเปรียบได้กับปริศนาธรรม คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
  • ตุงที่ใช้ประกอบการเทศน์ เป็นการนำตุงค่าคิงหรือตุงเทวดาที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ โดยการปักตุงไว้ประดับกัณฑ์เทศน์หรืออาคารที่ประกอบพิธีกรรม เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลา

ข้อห้ามของตุงล้านนา

ชาวล้านนาไม่นิยมนำตุงทุกประเภทมาแขวนไว้ในบ้าน ทำตุงเสร็จแล้วต้องนำไปถวายพระ เพราะส่วนใหญ่ตุงมีไว้เพื่อตัวเราในภายภาคหน้า และผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่สามารถนำไปแขวนไว้ที่ร้านอาหาร ร้านค้าทั่วไปได้ที่ผู้คนไม่อยู่อาศัย

ความแตกต่างในอดีตและปัจจุบัน

จากคำบอกเล่าของครูอัศวศิลป์ แผ่นชัยภูมิ ซึ่งเป็นครูภูมิปัญญาล้านนาที่มีความเชี่ยวชาญในการสืบสานวัฒนธรรม ได้กล่าวว่า ตุงในอดีตกับตุงในปัจจุบันยังคงมีความเหมือนกันมาก เนื่องจากท่านได้ทำการอนุกรักษ์ตุงล้านนาให้ใกล้เคียงกับสมัยก่อนมากที่สุด แต่ก็มีการประยุกต์วิธีการทำลวดลายด้วยการนำเครื่องมือต่าง ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น แต่ตุงที่ครูอัศวศิลป์เผยแพร่ยังคงใช้การตัดกระดาษด้วยกรรไกรอยู่ แต่เพิ่มการฉลุลายด้วยสิ่วเข้ามาด้วย

การสืบสานวัฒนธรรม

การสืบสานวัฒนธรรมของเชียงใหม่จะมีชั่วโมงเรียนการสืบสานภูมิปัญญาล้านนาของแต่ละโรงเรียนลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย แต่จะไม่จำกัดว่าเรียนเพียงแค่การประดิษฐ์ตุงล้านนาอย่างเดียว จะมีการนำภูมิปัญญาอื่น ๆ มาสอนสลับกันไป เปรียบเหมือนเป็นวิชาหนึ่งในโรงเรียนและเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานที่เด็กต้องเรียนรู้ เพื่อให้วัฒนธรรมล้านนายังคงอยู่ต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน  รวมถึงผู้คนเริ่มหันมาสนใจรักษาวัฒนธรรมมากขึ้น ทำให้เชียงใหม่ยังคงมีวัฒนธรรมที่ดีงามและไม่สูญหายไป

แหล่งที่มา

อัศวศิลป์ แผ่นชัยภูมิ. (2567, มีนาคม 1). ครูภูมิปัญญาล้านนา สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์

Porakamol Massamer
Intern Student form Faculty of Humanities, Chiang Mai University

    “ส่งเคราะห์” พิธีกรรมทางล้านนา ส่งสิ่งชั่วร้าย เพื่อให้อยู่สุขสบาย ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และอันตรายทั้งปวง

    Previous article

    วัดพระบาทตีนนก

    Next article

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

    Privacy Preferences

    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

    ยอมรับทั้งหมด
    Manage Consent Preferences
    • คุกกี้ที่จำเป็น
      Always Active

      ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

    • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

      คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

    บันทึก