FOLKWAYSTraditional

“ประเพณีปอยหลวง” การเฉลิมฉลองครั้งยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา

0
      
              คำว่า “ปอย” เป็นคำพื้นเมืองของภาคเหนือ หมายถึง งานฉลองรื่นเริง 
                       คำว่า “หลวง” หมายถึง ยิ่งใหญ่ 

ความเป็นมา

สมัยพุทธกาลมีนางวิสาขามหาอุบาสิกา ได้สร้างวัดชื่อ “บุพพาราม” ถวายแก่พระพุทธเจ้า ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า วัดที่ประดิษฐานขึ้นมามีความงดงามมาก เมื่อสร้างเสร็จนางจึงจัดให้มีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่และสนุกสนาน รวมถึงนางวิสาขามหาอุบาสิกาได้พาลูกหลานมาฟ้อนรำรอบวิหาร ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้มีการจัดงานประเพณีปอยหลวงขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน

ความสำคัญ

ประเพณีปอยหลวง เป็นการเฉลิมฉลองถาวรวัตถุของวัดหรือสิ่งก่อสร้างที่ผู้คนช่วยกันประดิษฐานขึ้นมาเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ และเพื่อให้เกิดอานิสงส์แก่ตนเองและครอบครัวถือว่าได้บุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของคณะสงฆ์และชาวบ้าน ไม่เพียงแค่มีการฉลองที่ยิ่งใหญ่แต่ยังมีการจัดงานประเพณีปอยหลวงที่นิยมทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ได้จากการจัดงานประเพณีปอยหลวงก็คือการแสดงความชื่นชม ยินดีร่วมกันและสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่คนในท้องถิ่นด้วยการจัดมหรสพ เช่น หนังใหญ่ ลิเก โนรา และการฟ้อนรำ (ยุพา พลสามารถ, 2557)

ช่วงเวลาในการจัดประเพณีปอยหลวง

ประเพณีปอยหลวงมักจัดในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนยี่จนถึงเดือนหกของภาคเหนือ ซึ่งตรงกับเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนมีนาคมของภาคกลาง (พระครูจันทสรการ, สัมภาษณ์, 19 มกราคม 2567)

ขั้นตอนในการจัดงานประเพณีปอยหลวง

1. วัดที่ต้องการจัดงานประเพณีปอยหลวงจะต้องมีการก่อสร้างถาวรวัตถุ เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิสงฆ์ เจดีย์ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ขึ้นอยู่กับความเจริญของแต่ละพื้นที่ ถ้าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ชนบทจำนวนเงินในการก่อสร้างถาวรวัตถุจะมีมูลค่าน้อยกว่า 1 ล้านบาทก็ได้

2. ทำเรื่องขออนุญาตจากเจ้าคณะอำเภอ โดยติดต่อกับเจ้าคณะอำเภอฝ่ายสาธารณูปการเพื่อจองวัน เดือน ปีที่ต้องการจัดงานประเพณีปอยหลวง ซึ่งแต่ละวัดในอำเภอห้ามจัดวันเดียวกัน

3. เมื่อได้วันที่จัดงานประเพณีเรียบร้อยแล้ว จะมีการเรียกประชุมชาวบ้านและแต่งตั้งกรรมการแต่ละแผนก เพื่อแบ่งงานกันทำ เช่น กลุ่มพ่อบ้านมีหน้าที่ในการจัดสถานที่ ติดต่อประสานงานกับชุมชนอื่น กลุ่มแม่บ้านมีหน้าที่จัดหาอาหารการกิน กลุ่มหนุ่มสาวมีหน้าที่บริการยกข้าวน้ำมาเลี้ยงแขก และติดต่อมหรสพที่จะมาเล่นในงาน กลุ่มคนเฒ่าคนแก่มีหน้าที่ด้านศาสนพิธีและต้อนรับแขก

4. นิมนต์พระสงฆ์จากสถานที่ต่าง ๆ มายังวัดที่จัดงานประเพณีปอยหลวง โดยการนิมนต์พระมาจะมีการสวดที่รายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกัน ได้แก่

  • วัดที่ประกอบพิธีกรรมมีการปลุกเสกพระพุทธรูปองค์ใหม่ หรือนำพระพุทธรูปเก่ามาทำพิธีบวชใหม่ จะมีการทำพิธีพุทธาภิเษกโดยการสวดมนต์ตั๋นแบบล้านนา หรือบทสวดเจริญพระพุทธมนต์หลวง เมื่อมีการเบิกเนตรพระพุทธรูปองค์ใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีการถวายข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์ (การกวนข้าวทิพย์จะนิยมเอาหญิงสาวที่มีความบริสุทธิ์มากวนข้าว) และมีพระเทศนาธรรม
  • วัดที่มีพระพุทธรูปองค์เก่าแต่ไม่มีการทำพิธีบวชใหม่ จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดในวันเลี้ยงเพลพระหรือแล้วแต่ความพร้อมของเจ้าภาพ โดยการเจริญพระพุทธมนต์สมโภชพระพุทธรูปแบบธรรมดา

ระยะเวลาในการจัดงานประเพณีปอยหลวง

การจัดงานประเพณีปอยหลวงนิยมจัดขึ้นอย่างน้อย 3 วัน หรือมากกว่านั้นแล้วแต่เจ้าภาพ ซึ่งแต่ละวันมีชื่อเรียกและรายละเอียด (พระครูจันทสรการ, สัมภาษณ์, 19 มกราคม 2567) ดังนี้

          วันดา เป็นวันที่ชาวบ้านร่วมมือกันไปแห่พระอุปคุต หรือพระมหาเถระที่มีอิทธิฤทธิ์ซึ่งจำพรรษาอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร โดยการไปบูชาพระอุปคุตมาจากแม่น้ำ เพื่อปกปักรักษา ไม่ให้มีมารหรืออะไรมาทำลายประเพณีครั้งนี้ได้ ด้วยการที่ชาวบ้านจะแห่กันไปที่แม่น้ำใกล้ชุมชน แล้วนำก้อนหินมาเป็นสัญลักษณ์แทนพระอุปคุต แต่ในปัจจุบันมีการใช้รูปปั้นพระอุปคุตไปไว้ใต้น้ำก่อนวันจัดงานประเพณี เมื่อไปถึงแม่น้ำชาวบ้านก็พากันงมรูปปั้นพระอุปคุตขึ้นมาจากน้ำแล้วแห่ไปไว้ที่วัด เมื่อเสร็จงานก็แห่กลับไปคืนเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังมีการตกแต่งต้นครัวตานของแต่ละบ้าน เพื่อเป็นกุศโลบายให้พี่น้องสามัคคีกัน โดยครัวตานจะตกแต่งแบบไหนก็ได้แล้วแต่ว่าวัดที่ไปแห่ครัวตานขาดเหลือสิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุอุปกรณ์อะไรบ้าง   

ภาพโดย : เพจวัดอุปคุต

          วันสวดและวันครัวตาน มีการทำพิธีสงฆ์ก่อน แล้วช่วงบ่ายชาวบ้านมาแห่ครัวตานที่ทำไว้ของแต่ละบ้านมายังวัด และบรรดาญาติสนิท มิตรสหาย ชาวบ้านในหมู่บ้านมารับประทานอาหารด้วยกัน รวมทั้งทางวัดจะมีการจ้างหนังใหญ่ ลิเก ซอ ฟ้อนรำต่าง ๆ มาแสดงเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน

ภาพโดย : เพจเชียงใหม่นิวส์

          วันหัววัด เป็นวันสุดท้ายในการจัดงานประเพณีปอยหลวง โดยหัววัดที่นิมนต์มาเป็นหัววัดที่ชาวบ้านประชุมตกลงกันก่อนวันงาน ซึ่งหัววัดที่มีความคุ้นเคยหรืออยู่บริเวณใกล้เคียงกันจะมีการนำการละเล่น การฟ้อนรำ ซอ ลิเก เงินและสิ่งของต่าง ๆ มาแห่เข้าวัดด้วย ในส่วนของเจ้าภาพจะมีการฟ้อนรำบริเวณหน้าวัดเพื่อต้อนรับหัววัด และทุกคนร่วมสนุกสนานกัน

ภาพโดย : เพจศูนย์มรดกเมืองเทศบาลนครเชียงใหม่

ข้อห้าม!!!

ตอนแห่ไปรับพระอุปคุตขึ้นจากน้ำห้ามนำคนปากไม่ดีไป เพราะเชื่อว่าคนปากไม่ดีจะพูดแต่เรื่องแย่ๆออกมาแล้วสิ่งที่พวกเขาพูดจะกลายเป็นจริง 

ข้อสังเกตว่าวัดไหนมีประเพณีปอยหลวง

ก่อนที่จะถึงวันงานถ้ามีตุงที่เรียงรายสลับกันอย่างสวยงามสองข้างทางก็แสดงว่าวัดนั้นกำลังจะมีประเพณีปอยหลวง และบางวัดจะจัดธงชาติและธงธรรมจักรปักตลอดแนวตามบริเวณหน้าวัดหรือทางเข้าวัดทุกด้าน (จักรพงษ์ คำบุญเรือง, 2562)

ความแตกต่างของประเพณีปอยหลวงในอดีตกับปัจจุบัน

พิธีกรรมทางศาสนาเหมือนกัน แต่แตกต่างกันที่ในอดีตมีกิจกรรมต่าง ๆ สนุกสนานกว่าไม่ว่าจะเป็นการจัดงานมหรสพ ลิเกต่าง ๆ และแต่ละวัดมีช่างฟ้อนประจำวัด รวมถึงมีบัตรสมาชิกสำหรับร่วมงานประเพณีปอยหลวง ซึ่งแต่ละวัดจะมีหัวหมวดปอยหลวง แล้วเวลาที่มีการจัดงานประเพณีปอยหลวงจะมีการนำบัตรไปแจกชาวบ้านแต่ละหมวด โดยแต่ละหมู่บ้านมีหลากหลายหมวดจะสลับสับเปลี่ยนกันไปร่วมงาน ซึ่งในปัจจุบันไม่มีการแจกบัตรปอยหลวงแล้ว มีการประกาศทาง Facebook page และประกาศเสียงตามสายของชุมชนแทน (พระครูจันทสรการ, สัมภาษณ์, 19 มกราคม 2567)

ความรู้เพิ่มเติม

  • ประเภทของปอย สามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภท
    • ปอยหลวง คือ งานสมโภชครั้งใหญ่ เป็นการฉลองถาวรวัตถุประจำหมู่บ้าน เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิสงฆ์ เจดีย์
    • ปอยน้อย คือ งานรื่นเริงภายในเครือญาติ เป็นการฉลองที่ไม่ใหญ่โต
    • ปอยล้อ คือ งานศพพระสงฆ์ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน
    • ปอยข้าวสังข์ คือ งานอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
    • ปอยออด คือ การจัดงานฉลองถาวรวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่มีมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยจัดงานกันภายใน ไม่ได้มีการจัดงานประเพณีใหญ่โตเทียบเท่ากับปอยหลวง
    • ปอยลูกแก้ว คือ การบรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา เป็นการสืบเชื้อสายมาจากชาวไทใหญ่
  • การสืบชะตาบ้าน โดยการสืบชะตาบ้านแต่หมู่บ้านจะมีการจัดขึ้นมาในประเพณีปอยหลวงด้วยตามความต้องการของเจ้าภาพและชาวบ้าน โดยหมู่บ้านที่ต้องการทำพิธีนี้จะมีการโยงสายสิญจน์จากพิธีกรรมในวัดไปตามถนนหนทางต่าง ๆ ผ่านแต่ละบ้านและบ้านหลังไหนต้องการทำการสืบชะตาบ้านก็จะมัดสายสิญจน์ไปไว้ในบ้านของตนเอง 

แหล่งที่มา

จักรพงษ์ คำบุญเรือง. (2562). ประเพณี “ปอยหลวง” ล้านนา. เชียงใหม่นิวส์. https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/885756

พระครูจันทสรการ. (2567, มกราคม 19). เจ้าอาวาสวัดทุ่งหมื่นน้อย ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์

ยุพา พลสามารถ. (2557). ประเพณีปอยหลวง. นามิกิ พรีซิชั่น. https://www.stou.ac.th/study/projects/ training/culture/content/2557/7-%2057/2-57.pdf

Porakamol Massamer
Intern Student form Faculty of Humanities, Chiang Mai University

    “ตั้งธรรมหลวง” เทศน์มหาชาติ ฟังธรรมครั้งยิ่งใหญ่

    Previous article

    “ผีเสื้อบ้าน” ตำนานผีล้านนา ปกปักษ์รักษาดูแลหมู่บ้าน

    Next article

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

    Privacy Preferences

    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

    ยอมรับทั้งหมด
    Manage Consent Preferences
    • คุกกี้ที่จำเป็น
      Always Active

      ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

    • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

      คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

    บันทึก