FOLKWAYSTraditional

มนต์เสน่ห์วัฒนธรรมลอยกระทงแบบล้านนา “ประเพณียี่เป็ง”

0

ประเพณียี่เป็ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของภาคเหนือที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 14 ในภาษาเหนือ คำว่า “ยี่” แปลว่า สอง ส่วนคำว่า “เป็ง” แปลว่า เพ็ญ หรือ พระจันทร์เต็มดวง โดยเดือนทางภาคเหนือจะนับเร็วกว่า 2 เดือน ซึ่งเดือนยี่ของภาคเหนือตรงกับเดือน 12 ของภาคกลางหรือวันลอยกระทง

ความเป็นมา

  • ตำนานเกี่ยวกับโยนกและจามเทวีวงศ์ มีการบอกกล่าวว่า “ประเพณีลอยโขมด หรือลอยไฟ” เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่โบราณกาล การลอยโขมดเกิดขึ้นที่อาณาจักรหริภุญไชย เมื่อประมาณ พ.ศ.1490 มีกลุ่มคนมอญหรือเม็งที่อาศัยอยู่ในเมืองหริภุญไชยได้อพยพหนีอหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นไปอยู่ที่เมืองสะเทิม ต่อมาอหิวาตกโรคในหริภุญชัยได้สงบลงแล้ว จึงเดินทางกลับหริภุญไชย เมื่อถึงวันครบรอบปีที่ได้จากพี่น้องที่เมืองสะเทิม จึงจัดดอกไม้ธูปเทียน เครื่องสักการะ พร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ลงในสะเปาซึ่งมีลักษณะคล้ายเรือ หรือใส่ในสะตวงหรือกระทงลอยลงแม่น้ำปิง แม่น้ำแม่ท่า และลำน้ำแม่กวง เพื่อส่งความระลึกถึงญาติพี่น้องที่ยังอยู่ต่างเมือง จึงเป็นสาเหตุของการลอยสะเปาหรือลอยกระทง (มณี พยอมยงค์, 2547; สงวน โชติสุขรัตน์, 2511)
  • ตำนานที่มีต้นกำเนิดมาจากพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งนางสุชาดาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวนที่หุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระพุทธองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ” ด้วยแรงสัตยาธิษฐานและบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพญานาค จนตื่นขึ้นและประกาศก้องว่า “บัดนี้ได้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว” เหล่าเทพยดาทั้งหลายและพญานาคก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ขอให้พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อที่พวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ได้พบเห็นเรื่องราวก็นำความไปบอกนางสุชาดา เมื่อถึงวันนั้นของทุกปีนางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอมและดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำ และต่อมาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทงที่พบเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน (มณี พยอมยงค์, 2547; สงวน โชติสุขรัตน์, 2511)

ความเชื่อ

ความเชื่อของประเพณียี่เป็ง เป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่อยู่ในมหาสมุทร อีกความเชื่อหนึ่งเป็นการบูชาพระแม่คงคา บูชาน้ำ ขอโทษขออภัยและขอบคุณที่ให้น้ำในการนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันเป็นการลอยกระทงเพื่อหาคู่ และมีบางคนที่ตัดเล็บตัดผมใส่ไปด้วยถือเป็นการลอยเคราะห์ (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายน 2566)

กิจกรรมของประเพณียี่เป็ง

  • กิจกรรมของประเพณียี่เป็งในอดีต
    • การทำประทีปโคมไฟ โดยประทีปโคมไฟจะนิยมทำในภาคเหนือ ส่วนใหญ่ผู้คนจะทำเป็นประทีปตีนกา ซึ่งการทำเป็นตีนกา คือ การนำฝ้ายสีขาวมาฟั่นให้เป็นแฉกๆ เหมือนกับตีนกาแล้วนำไปใส่ภาชนะ ผู้คนในสมัยก่อนจะใช้วัสดุหลายอย่างในการทำ แต่ส่วนมากจะใช้ดินเผาปั้นเป็นภาชนะเล็ก ๆ แล้วเอาน้ำมัน ขี้ผึ้ง ไขที่เป็นเชื้อไฟได้มาทำเป็นน้ำเทียน
    • การปล่อยโคม เป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี และเปรียบเสมือนการปล่อยเคราะห์ปล่อยโศก ปล่อยเรื่องที่ไม่ดีออกไปจากชีวิต โดยการปล่อยโคมจะมี 2 รูปแบบ คือ โคมลอยหรือว่าวฮม เป็นการปล่อยโคมในช่วงกลางวัน และโคมไฟหรือว่าวไฟ เป็นการปล่อยโคมในช่วงกลางคืน
    • การจุดบอกไฟ มีความเชื่อว่าเป็นการช่วยให้ชีวิตรุ่งโรจน์โชติช่วงเหมือนกับประกายไฟของดอกไม้ไฟ โดยมีทั้งการจุดบอกไฟดอก และบอกไฟดาว รวมถึงมีการจัดแข่งขันจุดบอกไฟดอก แต่ในปัจจุบันไม่มีกิจกรรมนี้แล้ว เพราะมีข้อจำกัดด้านกฎหมายเนื่องจากก่อให้เกิดความอันตรายได้
    • การเผาสีสายค่าคิง เป็นการนำด้ายมาชุบกับน้ำมัน ขี้ผึ้ง แล้วตัดด้ายให้ยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของด้ายเส้นนั้น เพื่อเป็นตัวแทนของตัวเรา และนำไปเผาบูชาพระ ซึ่งในปัจจุบันการเผาสีสายค่าคิงไม่มีที่ไหนทำแล้ว

  • กิจกรรมของประเพณียี่เป็งในปัจจุบัน ได้แก่ การประกวดกระทงเล็ก การประกวดกระทงใหญ่ การประกวดร้องเพลง การประกวดซุ้มประตูป่า การฉายหนังกลางแปลง การเทศน์ธรรม การปล่อยโคมไฟ การจัดประกวดนางนพมาศ และตอบปัญหาธรรมะ
  • การจัดกิจกรรมประเพณียี่เป็งในวัด
    • ช่วงเช้า มีการบิณฑบาตจากชาวบ้าน
    • ช่วงกลางวัน มีการเทศนาธรรมต่าง ๆ
    • ช่วงกลางคืน มีการเทศนาธรรมอีกครั้งเกี่ยวกับอานิสงส์ผางประทีป โดยบอกว่าอานิสงส์ผางประทีปมีที่มาอย่างไร การทำประทีปแต่ละอย่างที่ช่วยสร้างเชื้อเพลิงจากไข น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว อานิสงส์แต่ละอย่างมีความแตกต่างกัน และอยู่ที่การอธิษฐานของแต่ละบุคคลด้วย แต่ในปัจจุบันมีการเทศนาธรรมเพียงช่วงกลางวันอย่างเดียว

ความแตกต่างของประเพณียี่เป็งในอดีตและปัจจุบัน

ในอดีตการจัดงานประเพณียี่เป็งเป็นแบบเรียบง่าย แต่ในปัจจุบันประเพณียี่เป็งมีการสร้างสรรค์งานอย่างอลังการ ไม่มีแก่นแท้ของประเพณีว่าประเพณีนี้มีความเป็นมาอย่างไร จัดขึ้นมาเพื่อสาเหตุอะไร และน้อยคนที่จะเห็นถึงความงดงามของประเพณีจริง ๆ รวมถึงมีการแอบแฝงไปด้วยการแสวงหาผลประโยชน์จากตุง โคมแขวน โคมไฟ เมื่อก่อนผู้คนจะไม่นำสิ่งเหล่านี้ไปไว้ตามบ้านเรือนมีเพียงแค่ที่วัดเท่านั้น สมัยนี้ตุง โคมแขวนกลายเป็นของประดับตกแต่ง และสังคมไทยโดนวัตถุนิยมครอบงำ คิดที่จะทำสิ่งใดก็จะต้องมีเงินเป็นค่าตอบแทน คนจึงฉวยโอกาสจากประเพณีไปใช้ในการหาเงินในการขายเหล้า ขายเบียร์ โฆษณาและประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยวมากกว่าการเคารพบูชาพระพุทธศาสนา (พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม, สัมภาษณ์, 27 พฤศจิกายนน 2566)

ความสำคัญของประเพณียี่เป็งที่มีผลดีต่อชุมชน

  • ช่วยสร้างความสามัคคีของผู้คนในชุมชนในการร่วมมือกันจัดกิจกรรประเพณียี่เป็ง
  • ช่วยคัดกรองคน เนื่องจากมีการทำงานเป็นหมู่คณะจะทำให้เห็นตัวตนของแต่ละบุคคลได้ชัดเจนในการทำงานร่วมกับผู้อื่นว่ามีการปฏิบัติตัวอย่างไร
  • ช่วยพัฒนาคน ครอบครัว และชุมชนให้เข้มแข็ง

มุมมองของพระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโฒที่มีต่อประเพณียี่เป็ง

เรื่องราวที่เกี่ยวกับประเพณียี่เป็ง

ซุ้มประตูป่า

ผางประทีป

การปล่อยโคม

แหล่งที่มา

มณี พยอมยงค์. (2547). ประเพณีสิบสองเดือนล้านนาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับปรับปรุงเพิ่มเติม). เชียงใหม่: ส.ทรัพย์การพิมพ์.

สงวน โชติสุขรัตน์. (2511). ประเพณีไทย ภาคเหนือ. เชียงใหม่: สงวนการพิมพ์.

พระครูสมุห์ วิเชียร คุณธัมโม. (2566, พฤศจิกายน 27). พระครูวันเจดีย์แม่ครัว ตำบลแม่แฝกใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่. สัมภาษณ์

Porakamol Massamer
Intern Student form Faculty of Humanities, Chiang Mai University

    อนันต์ สุจริต ภูมิปัญญาการทําโคมแขวนล้านนา

    Previous article

    “ซุ้มประตูป่า” วัฒนธรรมชาวล้านนา ต้อนรับการกลับมาของพระเวสสันดร

    Next article

    เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

    Privacy Preferences

    คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

    ยอมรับทั้งหมด
    Manage Consent Preferences
    • คุกกี้ที่จำเป็น
      Always Active

      ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

    • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

      คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

    บันทึก